วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาของนักกีฬาทีมชาติไทย

สร้างทฤษฎีจากข้อมูล (THE THEORY OF SELF-CONFIFENCE IN SPORT FOR THAI NATIONAL ATHLETER : GROUNDED THEORY APPROACH)
ชื่อผู้วิจัย วิมลมาศ ประชากุล

ปี พ.ศ. 2551

คำถามการวิจัย
1. นักกีฬาทีมชาติไทยให้ความหมายของความเชื่อมั่นในตนเองอย่างไร
2. นักกีฬาทีมชาติไทยมีกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองอย่างไร
3. ทฤษฎีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาของนักกีฬาทีมชาติไทยเป็นอย่างไร

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาการให้ความหมายของความเชื่อมั่นในตนเองของนักกีฬาทีมชาติไทย
2. เพื่อศึกษากระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของนักกีฬาทีมชาติไทย
3. เพื่อสร้างทฤษฎีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาจากข้อมูลของนักกีฬาทีมชาติไทย

ขอบเขตงานวิจัย
การศึกษาครั้งนี้เป็นการสร้างทฤษฎีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาของนักกีฬาทีมชาติไทย ที่มีการฝึกซ้อมและแข่งขันอย่างต่อเนื่องมากกว่า 5 ปี เพื่อสะท้อนพลวัต (Dynamic) และองค์รวม (Holistic) ของความเชื่อมั่นในตนเองของนักกีฬาทั้งในขณะการฝึกซ้อมและการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นปัจจัยแหล่งข้อมูลข่าวสาร กระบวนการทางความคิดของนักกีฬาพฤติกรรมที่แสดงออกของนักีฬา เพื่อหาข้อสรุปสร้างเป็นทฤษฎีจากข้อมูลจริงของนักกีฬาทีมชาติไทย การวิจัยครั้งนี้ศึกษาในนักกีฬาทีมชาติไทย ที่มีการฝึกซ้อมและการแข่งขันอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นใจเฉพาะอย่าง ปัจจัยในการสร้างความเชื่อมั่นเฉพาะอย่างแบนดูร่า มี 4 ปัจจัย (Bandura, 1977, p.80, 1986, pp. 399-401) ได้แก่ (1) ความสำเร็จจากการกระทำ (2) การได้เห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จ (3) การชักจูงด้วยคำพูด (4) ระดับสรีระวิทยา แต่หลังจากที่ได้มีนักวิชาการนำทฤษฎีไปวิจัยอย่างกว้างขวาง ซึ่งได้เพิ่มปัจจัยในการสร้างความเชื่อมั่น อีก 2 ปัจจัย (Feltz&lirgg,2001,p.341) ได้แก่ (1) ระดับอารมณ์ และ (2) ความสามารถในการจินตภาพ





วิธีดำเนินการวิจัย
งานวิจัยเรื่องนี้ได้แบ่งแนวทางการทำวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีในการวิจัย การสร้างทฤษฎีแบ่งการวิเคราะห์เป็น 5 ช่วง (Phase) คือ
1. การออกแบบงานวิจัย
2. การรวบรวมงานวิจัย
3. การจัดลำดับข้อมูล
4. การวิเคราะห์ข้อมูล
5. การเปรียบเทียบ
- ในแต่ละช่วงได้แบ่งออกเป็น 9 ขั้นตอน หรือวิธีการ
- ในแต่ละขั้นตอนหรือวิธีการเป็นการประเมินคุณภาพวิจัยอยู่ 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่
1. ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง (Construct Validity)
2. ความเที่ยงตรงภายใน (Internal Validity)
3. ความเที่ยงตรงภายนอก (Externat Validity)
4. ความเชื่อมั่น (Reliability)

ช่วงการออกแบบวิจัย

ขั้นที่ 1 ทบทวนวรรณกรรม
กิจกรรม (Activities)
- กำหนดคำถามการวิจัย
- กำหนดกรอบแนวคิดพื้นฐาน
เหตุผล (Rationale)
- มุ่งที่ประเด็น
- ตัดข้อมูลที่ไม่ตรงประเด็นและปรับปรุงความเที่ยงตรงภายนอก

ขั้นที่ 2 เลือกกลุ่มตัวอย่าง
กิจกรรม (Activities)
ใช้วิธีการเลือกเชิงทฤษฎี ,ไม่ใช้การสุ่ม
เหตุผล (Rationale)
- มุ่งประเด็นที่กรณีที่มีสอดคล้องกับทฤษฎีเพื่อตรวจสอบและขยายทฤษฎี

ช่วงการเก็บข้อมูล

ขั้นที่ 3 พัฒนาข้อมูล
กิจกรรม (Activities)
- สร้างข้อมูลจากกรณีศึกษาก่อน
- ใช้วิธีการเก็บข้อมูล หลาย ๆ วิธี
- ใช้วิธีการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ
เหตุผล (Rationale)
- เพิ่มความเชื่อถือได้
- เพิ่มความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง
- เพิ่มความเข้มแข็งของทฤษฎีโดยการใช้หลักการ 3 เส้า (Triangulation) เพื่อเพิ่มความเที่ยงตรงภายใน
- ตรวจสอบหลักฐานตรงกัน

ขั้นที่ 4 เข้าสู่สนามจริง
กิจกรรม (Activities)
- รวบรวมข้อมูลที่ตรงกันและวิเคราะห์
- มีความยืดหยุ่นและสร้างโอกาสในการเก็บข้อมูล
เหตุผล (Rationale)
- วิเคราะห์ด้วยความรวดเร็วและใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ทำงานได้สะดวกขึ้น
- เปิดโอกาสให้ผู้วิจัยมีโอกาสสร้างหัวข้อและสร้างจุดเด่นเฉพาะช่วงการจัดลำดับข้อมูล


ขั้นที่ 5 การจัดลำดับข้อมูล
กิจกรรม (Activities) ลำดับเหตุการณ์ตามที่เกิด
เหตุผล (Rationale)
- เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลง่ายขึ้นและตรวจสอบได้ในแต่ละขั้นตอน

ช่วงการวิเคราะห์ข้อมูล

ชั้นที่ 6 วิเคราะห์ข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มตัวอย่างแรก
กิจกรรม (Activities)
- การให้รหัส (Open Coding)
- ใช้รหัสเชื่อมโยง (Axial Coding)
- ใช้รหัสเลือก (Selective Coding)
เหตุผล (Rationale)
- พัฒนามโนทัศน์หมวดหมู่และลักษณะที่ไม่สำคัญ
- พัฒนาความสำคัญระหว่างหมวดหมู่และในส่วนย่อยแต่ละหมวดหมู่
- บูรณาการหมวดหมู่เพื่อสร้างกรอบทฤษฎี
- รูปแบบของรหัสต่าง ๆ จะเพิ่มความเที่ยงตรงภายใน

ชั้นที่ 7 เลือกกลุ่มตัวอย่างตามทฤษฎี
กิจกรรม (Activities)
เลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะตรงข้ามกับทฤษฎี(กลับไปที่ขั้นที่ 2 จนกว่าทฤษฎีจะอิ่มตัว
เหตุผล (Rationale)
- ตรวจสอบ, ขยายความและปรับปรุงกรอบของทฤษฎี

ชั้นที่ 8 ยุติการค้นหา
กิจกรรม (Activities)
- ยุติการทดสอบเมื่อทฤษฎีมีโอกาสอิ่มตัว
เหตุผล (Rationale)
- จบกระบวนการเมื่อมีข้อมูลที่แตกต่างน้อยลง

ช่วงเปรียบเทียบกับแนวคิดและหลักการอื่น ๆ

ขั้นที่ 9 เปรียบเทียบทฤษฎีที่สร้างขึ้นมากับแนวคิดและหลักการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรม (Activities)
- เปรียบเทียบกับข้อขัดแย้งตามกรอบแนวคิดพื้นฐาน
-เ ปรียบเทียบกับความสอดคล้องตามกรอบแนวคิดพื้นฐาน
เหตุผล (Rationale)
- พัฒนาโครงสร้างคำนิยามและความเที่ยงตรงภายใน
- พัฒนาความเที่ยงตรงภายนอกโดยการเริ่ม นำข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาว่าขยายการนำไปใช้ได้

สรุปกระบวนการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (The Process of Building Grounded Theory) (Pandit, 1996)

การเลือกนักกีฬาผู้ให้ข้อมูลหลัก
ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informant) ของการวิจัยครั้งนี้ คือ นักกีฬาที่มีคุณลักษณะตามที่กำหนดไว้เบื้องต้น ซึ่งการเลือกกลุ่มตัวอย่างนี้ได้ใช้วิธีการเลือกเชิงทฤษฎี (Theoretical Sampling) ซึ่งมีกระบวนการดังนี้ ในการเลือกกลุ่มตัวอย่างคนแรกเพื่อเก็บข้อมูล นั้นผู้วิจัยได้เลือกตามที่กำหนดไว้เบื้องต้น เมื่อสัมภาษณ์ได้แล้ว ผู้วิจัยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด และกำหนดเป็นมโนทัศน์ (Concept) แล้วนำมาเชื่อมโยงมโนทัศน์ต่าง ๆ ที่ค้นพบเข้าด้วยกัน เพื่อทำเป็นข้อสรุปต่อจากนั้นจึงใช้ข้อสรุปนี้ไปกำหนดผู้ให้ข้อมูลหลักคนต่อไป ๆ ไป ซึ่งเลือกผู้ที่มีคุณลักษณะคล้ายกันเพื่อยืนยันกับข้อสรุปที่ได้และผู้ที่มีคุณลักษณะต่างจากผู้ให้ข้อมูลคนแรก (Negative Case) ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบข้อสรุปที่ได้ การกำหนดความแตกต่างระหว่างความคล้ายกันและลักษณะต่างกันของกลุ่มตัวอย่าง คือ ประเภทของกีฬา อันได้แก่กีฬาประเภททีม – บุคคล และปะทะ –ไม่ปะทะ การเก็บข้อมูลดำเนินไปจนผู้วิจัยแน่ใจว่าถึงแม้มีการเก็บข้อมูลเพิ่มก็ไม่อาจปรับเปลี่ยน (Modify) แก้ไขหรือเพิ่มเติม (Vertify) ข้อสรุปเดิมที่มีอยู่ได้ซึ่งถือได้ว่าเป็นการอิ่มตัวทางข้อมูล (Data Saturation) และทฤษฎีที่ได้สามารถให้ความเข้าใจรายละเอียด ความหมายของความเชื่อมั่นในตนเอง กระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองได้หลายมิติ หลายมุมมอง และหลายระดับ ซึ่งถือว่าเป็นการอิ่มตัวทางทฤษฎี (Theoretical Saturation) ผู้วิจัยจึงยุติการเลือกกลุ่มตัวอย่าง

วิธีการเก็บข้อมูล
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (Indepth interview) เนื่องจากการสัมภาษณ์มีการยืดหยุ่นสูง ผู้สัมภาษณ์มีโอกาสอธิบายขยายความให้ผู้ตอบเข้าใจวัตถุประสงค์ของคำถาม สามารถซักถามเพิ่มเติมและให้ข้อมูลนายละเอียดของประเด็นต่าง ๆ อันเป็นการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ต่อรองจนกว่าจะได้ข้อมูลที่ผู้วิจัยต้องการ พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ให้สัมภาษณ์กับผู้สัมภาษณ์ สามารถลำดับเหตุการณ์ที่ประสบและถ่ายทอดได้ในทัศนะของตนเอง อีกทั้งผู้สัมภาษณ์สามารถสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ตอบขณะให้สัมภาษณ์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังใช้วิธีการศึกษาจากการสังเกตอย่างไม่มีส่วนร่วม (Non-Participation Observation) ในขณะฝึกซ้อมและแข่งขัน เพื่อหาความสอดคล้อง และสนับสนุนข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์
ผู้วิจัยได้พัฒนาแนวคำถามมาจากวัตถุประสงค์และปัญหาการวิจัยกรอบความคิดพื้นฐานในการวิจัยแนวคำถามมีลักษณะเป็นคำถามปลายเปิด (Semi-Structure Open-Ended) ในการสัมภาษณ์ผู้วิจัยจะระมัดระวังไม่ให้เกิดการชี้นำการเสนอความเห็นส่วนตัว การร่วมแสดงความรู้สึก และแสดงอารมณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์ ทั้งนี้ในขณะสัมภาษณ์ทำการบันทึกเสียงหลังจากที่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลและเพื่อใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นำมาถอดคำต่อคำพร้อมกับรายละเอียดที่บันทึกไว้ขณะสัมภาษณ์ ส่วนการสังเกตผู้วิจัยได้สังเกตลักษณะพฤติกรรมที่นักกีฬาแสดงออกในขณะซ้อมและแข่งขันที่มีแนวโน้มนำไปสู่กระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง การสังเกตจะประกอบด้วยการสังเกตกายภาพภายนอก การแสดงออก ตำแหน่ง ท่าที ทางกาย และการบริหารเวลา รวมทั้งภาพรวมของบรรยากาศของการ ฝึกซ้อมและการแข่งขันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของนักกีฬา

ผลการวิจัย
1. นักกีฬาทีมชาติไทยให้ความหมายความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาว่าเป็นการรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีทักษะที่จะแสดงความสามารถนั้น ๆ ได้ และเชื่อว่าผลของการแสดงความสามารถนั้นจะประสบความสำเร็จ
2. นักกีฬาทีมชาติไทยมีกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองโดยการใช้ข้อมูลจากแหล่งที่เพิ่มและลดความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการรับรู้และประเมินการรับรู้ โดยแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบได้แก่การรับรู้ตนเองมีความสามารถ รับรู้ความพร้อม และรับรู้สภาพแวดล้อม จากนั้นนักกีฬาจะนำผลของการรับรู้จาก3 องค์ประกอบมาผ่านกระบวนการทางความคิด ซึ่งจะส่งผลให้นักกีฬามีความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น สูง หรือ ลดลง
3. ทฤษฎีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาของนักกีฬาทีมชาติไทยมาจาก 3 องค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ การรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถ (จากแหล่งข้อมูล ภายในและภายนอก) มีความพร้อม (ร่ายกายและจิตใจ) และสภาพแวดล้อม (บุคคลและกายภาพ) เอื้ออำนวยจะทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาสูงขึ้น เมื่อนักกีฬารับรู้ว่าตนเองมีความสามารถจากแหล่งข้อมูลภายในและภายนอก มีความพร้อมทางจิตใจและร่างกาย หรือนักกีฬารับรู้ว่าตนเองมีความสามารถจากแหล่งข้อมูลภายใน มีความพร้อมจากร่างกายหรือจิตใจและสภาพแวดล้อมด้านบุคคลเอื้ออำนวยนักกีฬาจะมีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาสูง และเมื่อนักกีฬาขาดความพร้อมทางจิตใจ และสภาพแวดล้อมด้านบุคคลไม่เอื้ออำนวยจะทำให้นักกีฬามีความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาลดลง

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณลูกพี่ที่ชี้แนะ

    ตอบลบ
  2. สล็อต ทดลอง pg ทั้งหมด เว็บไซต์ของเราเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น pg และสนุกสนานที่จะพาคุณสำรวจโลกของเกมสล็อตที่ไม่ธรรมดา ด้วยความหลากหลายที่เต็มไปด้วยความสนุก

    ตอบลบ